Skip to main content

บริการทางวิชาชีพ

BIG บริการตรวจสอบอาคารตามพรบ.ควบคุมอาคาร

รับตรวจสอบอาคารในฐานะผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้รับใบอนุญาตตามกฏหมายควบคุมอาคาร โดยทีมงานที่มี ความรู้ความสามารถ โดยเน้นการตรวจสอบและปรับปรุงตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้มีความปลอดภัยเพียงพอต่อผู้ใช้อาคาร และเป็นไปตามข้อกำหนดของกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

เลขที่ใบอนุญาต น.0116/2550

บริการทางวิชาชีพ

BIG บริการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานประจำปี

  • บริการจัดทำรายงานแผนและเป้าหมายในการจัดการพลังงาน
  • บริการสำรวจพฤติกรรมการใช้พลังงาน
  • บริการตรวจวัดการใช้พลังงาน
  • บริการตรวจวัดวิเคราะห์ผลการประหยัดพลังงาน
  • บริการนำเสนอการจัดการพลังงานแบบครบวงจร
เลขที่ใบอนุญาต น.0023/58

วัตถุประสงค์ในการตรวจสอบ

เหตุผลในการตรวจสอบอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 นั้น เพื่อทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของอาคาร เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยในการใช้อาคาร การป้องกันอัคคีภัย คุณสมบัติของวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นเกี่ยวเนื่องกับอาคารการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความเหมาะสมของสิ่งที่สร้างขึ้นแต่ละประเภทหรือแต่ละลักษณะ จึงกำหนดให้มีการตรวจสอบอาคาร และรายงานผลการตรวจสอบอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ประเภทอาคารที่ต้องตรวจสอบ

1. อาคารสูง

อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร ขึ้นไป โดยวัดความสูงของอาคารจากระดับพื้นดินจนถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ

อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้พื้นที่อาคารหรือส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียว หรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป

3. อาคารชุมนุมคน

อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่บุคคลอาจเข้าไปภายในเพื่อใช้ประโยชน์ เป็นอาคารที่จัดให้บุคคลเข้าไปภายในเพื่อการชุมนุมคน มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

4. โรงมหรสพ

อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือแสดงการรื่นเริง และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมการแสดงนั้นเป็นปกติธุระ โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

5. โรงแรม

เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป

6. สถานบริการ

เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

7. อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวม

เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดและอาคารที่อยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2000 ตารางเมตรขึ้นไป

หมายเหตุ สำหรับอาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมไดรับการผ่อนผันดังนี้

1. อาคารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นการจัดให้มีการตรวจสอบอาคารเป็นเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ (28 ต.ค. 2548)
2. อาคารที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร ให้ได้รับการยกเว้นการจัดให้มีการตรวจสอบอาคารเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ (28 ต.ค. 2548)

8. อาคารโรงงาน

เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้นและมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5000 ตารางเมตรขึ้นไป

9. ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

มีสูงจากพื้นดิน 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

บทเฉพาะกาล
ให้เจ้าของอาคารประเภทที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย และเป็นอาคารที่ก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จัดให้มีการตรวจสอบอาคารใหญ่เป็นครั้งแรกให้แล้วเสร็จและเสนอรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ

รายละเอียดการตรวจสอบ

การตรวจสอบใหญ่

เป็นการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและระบบทุกระบบ ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยให้กระทำทุก 5 ปี ในการตรวจสอบใหญ่ทุกครั้ง ผู้ตรวจสอบต้องจัดทำแผนต่างๆ ดังนี้

(1) แผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร รวมทั้งคู่มือปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวให้แก่ เจ้าของอาคารเพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษา และการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคาร

(2) แผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีรวมทั้งแนวทางการตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้แก่ เจ้าของอาคาร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี

การตรวจสอบประจำปี

เป็นการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีที่ผู้ตรวจสอบได้จัดทำไว้ในการตรวจสอบใหญ่ การตรวจสอบประจำปีให้กระทำทุกปี

รายการที่ต้องตรวจสอบ

กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของอาคารต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ต้องทำการตรวจสอบสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

(1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้

(1.1) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
(1.2) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
(1.3) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
(1.4) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
(1.5) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
(1.6) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
(1.7) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร

(2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร

(2.1) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
(2.1.1) ระบบลิฟต์
(2.1.2) ระบบบันไดเลื่อน
(2.1.3) ระบบไฟฟ้า
(2.1.4) ระบบปรับอากาศ
(2.2) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
(2.2.1) ระบบประปา
(2.2.2) ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
(2.2.3) ระบบระบายน้ำฝน
(2.2.4) ระบบจัดการมูลฝอย
(2.2.5) ระบบระบายอากาศ
(2.2.6) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
(2.3) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
(2.3.1) บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(2.3.2) เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(2.3.3) ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
(2.3.4) ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
(2.3.5) ระบบลิฟต์ดับเพลิง
(2.3.6) ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
(2.3.7) ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
(2.3.8) ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
(2.3.9) ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
(2.3.10) ระบบป้องกันฟ้าผ่า

(3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร

(3.1) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(3.2) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(3.2) สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงไหม้

(4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร

(4.1) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
(4.2) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
(4.3) แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
(4.4) แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

หน้าที่ของเจ้าของอาคาร หรือผู้ดูแลอาคาร

หน้าที่หลักๆของ เจ้าของอาคารหรือผู้จัดการนิติบุคคล มีดังนี้

1. จัดหา หรือว่าจ้างผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการควบคุมอาคาร
2. จัดเตรียมแบบอาคารและระบบอุปกรณ์ประกอบอาคาร ในกรณีที่ไม่มี ให้เจ้าของจัดทำแบบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ
3. จัดเตรียมเอกสารและร่วมวางแผนการตรวจสอบอาคารร่วมกับผู้ตรวจสอบอาคาร และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอาคาร
4. ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ตามรายงานของผู้ตรวจสอบอาคาร
5. จัดหา หรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารมีความเห็นว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เข้ามาดำเนินกาตรวจสอบและทำรายงานทางเทคนิคเฉพาะสาขา
6. นำส่งรายงานการตรวจสอบอาคารที่ผู้ตรวจสอบลงนามรับรองแล้วต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
7. จัดให้มีการตรวจสอบ และดูแลรักษาอาคารตามแผนงานที่ผู้ตรวจสอบอาคารจัดทำไว้ให้

บทกำหนดโทษ

1. จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ปรับเป็นรายวันๆ ละไม่เกิน 10,000 บาท

ไม่แก้ไขตัวอาคารหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่ง (มาตรา 65 จัตวา)

1. ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2. ปรับเป็นรายวันๆ ละ ไม่เกิน 5,000 บาท

ขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร

1. จัดหาผู้ตรวจสอบอาคาร
2. ผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบอาคาร
3. ผู้ตรวจสอบอาคารทำรายงานปรับปรุงอาคารส่งเจ้าของอาคาร
4. เจ้าของอาคารปรับปรุงอาคารตามรายงานผู้ตรวจสอบอาคาร
5. ผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าไม่ผ่าน ดำเนินการตามขั้นตอน (3)-(4) ใหม่อีกครั้ง ถ้าผ่านดำเนินการตามขั้นตอน (6)
6. ผู้ตรวจสอบอาคารทำรายงานส่งมอบให้เจ้าของอาคาร
7. เจ้าของอาคารจัดส่งรายงานให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น

คุณสมบัติเฉพาะ และลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบ

ข้อ ๑ ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา

(ก) มีสัญชาติไทย
(ข) ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก แล้วแต่กรณี
(ค) ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบ ของอาคารตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
(ง) ไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบในระยะเวลาสองปีก่อนวันขอขึ้นทะเบียน เป็นผู้ตรวจสอบ

(๒) ถ้าเป็นนิติบุคคล

(ก) ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นของ ผู้มีสัญชาติไทย และมีผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการทั้งหมด
(ข) ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก แล้วแต่กรณี
(ค) สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องผ่านการอบรม หลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่คณะกรรมการควบคุม อาคารรับรอง
(ง) สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลตาม (ค) ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียน เป็นผู้ตรวจสอบในระยะเวลาสองปีก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ สมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคล ได้แก่ หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลในการตรวจสอบอาคาร

หน้าที่ของพนักงานท้องถิ่น

ความหมายของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

– นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
– นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
– ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
– นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา

หน้าที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น

เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับรายงานผลการตรวจสอบแล้วจะต้องพิจารณารายงานผลการตรวจสอบภายใน 30 วันและเมื่อเห็นว่าอาคารดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและมีความปลอดภัย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องออกใบรับรองการตรวจสอบ สภาพอาคาร โดยไม่ชักช้าและต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ